KS FUND TOP PICK 28 เม.ย. - 2 พ.ค. 2025


KS FUND TOP PICK
28 เม.ย. - 2 พ.ค. 2025
หุ้นโลกบวกแรงจากความหวัง Trade Deal หุ้นเทคฯ นำตลาด ลุ้นงบบิ๊กเทคต่อในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นทุกดัชนีหลัก นำโดยหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) เพิ่มขึ้น 4.59% และหุ้นเยอรมนี (DAX) เพิ่มขึ้น 4.89% ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Topix), ไต้หวัน (TWSE), จีน H-Shares (HSCEI) และเกาหลีใต้ (Kospi) ต่างก็ปรับตัวขึ้นในกรอบ 2.5 – 3% ซึ่งล้วนเป็นดัชนีที่มีหุ้นเทคโนโลยีในสัดส่วนที่สูง ในขณะที่อินเดีย (Nifty 50) เพิ่มขึ้น 0.79% แรงหนุนมาจากความคืบหน้าการเจรจาการค้าที่สหรัฐฯ ใกล้บรรลุข้อตกลงกับอินเดียและเกาหลีใต้ ส่วนญี่ปุ่น แม้จะยังระมัดระวังเรื่องการเสียประโยชน์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเหล็ก แต่ก็เปิดช่องเจรจาด้วยการเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตร นอกจากนี้ สหรัฐฯ ส่งสัญญาณผ่อนคลายการค้ากับจีนโดยอาจลดภาษีนำเข้าจาก 145% ลงเหลือ 50-65% ขณะที่จีนกำลังพิจารณายกเว้นภาษีนำเข้า 125% สำหรับสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดตอบรับในเชิงบวกจากความคาดหวังว่าช่วงเลวร้ายที่สุดน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว
ปัจจัยหนุนอีกประการมาจากผลประกอบการของบริษัทใน S&P 500 ที่รายงานแล้ว 178 บริษัท ซึ่งมีกำไรมากกว่าคาดประมาณ 10% และกำไรเติบโตราว 17% แม้ว่าผลประกอบการของ Tesla จะไม่สู้ดีนักเนื่องจากยอดผลิตและส่งมอบรถยนต์ลดลงมากจากการหยุดสายการผลิตเพื่อปรับปรุง Model Y ทั่วโลก แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวขึ้นจากการที่ Elon Musk จะลดเวลาทำงานกับรัฐบาลมาทุ่มเทให้บริษัทมากขึ้น ด้าน Alphabet (Google) รายงานผลประกอบการดีกว่าคาดมาก จากธุรกิจโฆษณาและ Cloud ที่ทำกำไรได้ดีขึ้นจนมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมทั้งยืนยันยอดเงินลงทุน (CAPEX) ที่ 75 พันล้านเหรียญในปีนี้ ช่วยคลายความกังวลที่ว่าบริษัทเทคใหญ่อาจลดการลงทุนลง และ SAP บริษัทที่มีมูลค่าตลาดใหญ่ที่สุดในยุโรปจากเยอรมนี ก็รายงานผลประกอบการดีกว่าคาด โดยเฉพาะธุรกิจ Cloud ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในสัปดาห์นี้ ประเด็นที่ต้องติดตามยังเป็นเรื่องภาษีนำเข้าที่จะมีผลเพิ่มเติมในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ได้แก่ 1) ภาษีสำหรับพัสดุมูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์จากจีนและฮ่องกงเข้าสหรัฐฯ ซึ่งกระทบต่ออีคอมเมิร์ซจีนอย่าง Shein, Temu และ AliExpress 2) ภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ ที่มีสัญญาณผ่อนคลายแต่ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน นอกจากนี้ ยังเป็นสัปดาห์ที่มีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งตัวเลขตลาดแรงงาน, GDP ไตรมาสแรกปี 2025 และ ISM Manufacturing ที่คาดว่าจะชะลอตัวลง โดยประเด็นหลักคือตลาดจะตอบสนองอย่างไร ส่วนการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ครั้งนี้ คาดว่าจะคงดอกเบี้ยที่ 0.50% ต่อไปหลังจากเผชิญความเสี่ยงจากภาษีนำเข้า
อีกปัจจัยสำคัญที่อาจกำหนดทิศทางตลาดได้คือ การรายงานผลประกอบการของหุ้นขนาดใหญ่ ได้แก่ Microsoft, Apple, Amazon, Meta Platforms, Visa และ Mastercard โดย Microsoft และ Amazon ให้ติดตามการเติบโตและ Margin ของธุรกิจ Cloud รวมถึงการยืนยันงบลงทุน (CAPEX) ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับตลาดเกี่ยวกับกระแส AI ส่วน Apple มีความท้าทายจากภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เก็บจากจีน จึงต้องติดตามความเห็นผู้บริหารเกี่ยวกับการกระจาย Supply Chain และการเติบโตของรายได้จากบริการที่มี Margin สูง ว่าจะชดเชยผลกระทบจากยอดขาย iPhone ที่ชะลอตัวได้หรือไม่ ด้าน Meta ให้ติดตามการเติบโตของธุรกิจโฆษณาในภาวะเศรษฐกิจมีความท้าทาย และการควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อรักษา Margin จากการขาดทุนในธุรกิจ Reality Labs (Metaverse) สุดท้าย Visa และ Mastercard ที่อาจเป็นมาตรวัดการบริโภคที่ดี ให้ติดตามการเติบโตของการใช้จ่ายนอกพรมแดนซึ่งมี Margin สูง
เราประเมินว่าในสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทั่วโลกจะผันผวนสูงตามข่าวรายชั่วโมงเกี่ยวกับการเจรจาการค้า และอาจพักฐานหลังจากปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการปรับฐานจากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต่ำกว่าคาดหรือชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาจทำให้ตลาดปรับตัวลงไม่มากหรืออาจปรับตัวขึ้นต่อได้ คือผลประกอบการของหุ้นเทคขนาดใหญ่ที่ในไตรมาสนี้ Bloomberg Consensus ไม่ได้คาดหวังผลลัพธ์สูงเกินไป ทำให้มีโอกาสมากที่ผลประกอบการจะดีกว่าคาด และเป็นแรงหนุนให้หุ้นปรับตัวขึ้น เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับ Alphabet ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เราจึงมองว่าการปรับตัวลงของราคาหุ้นก่อนหน้านี้เกิดจาก Sentiment เป็นหลัก ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่ง หากตลาดย่อตัวลงจะเป็นโอกาสดีในการสะสมกองทุน Core Portfolio อย่าง K-GSELECT
มุมมอง KS
Buy lists
Satellite port (สำหรับช่วง 6 - 12 เดือน)
K-JP-A(D): กองทุนหุ้นญี่ปุ่นที่ลงทุนผ่านกองทุนหลัก Lazard Japanese Strategic มีสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มการเงินราว 25% โดยมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของค่าจ้างหนุนการบริโภคในประเทศ การที่ BOJ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นการรักษาสภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลาย โดยดัชนี Topix ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนที่ทรัมป์จะประกาศ Reciprocal tariffs จากความคาดหวังจะมีดีลการค้ากับสหรัฐฯ และการฟื้นตัวของหุ้นในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์อย่าง Tokyo Electron, Advantest, Disco และ Renesas ตามสหรัฐฯ
สำหรับญี่ปุ่น สัปดาห์นี้มีตัวเลขที่ต้องติดตาม คือ การประชุม BOJ ที่ตลาดคาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% แต่ความเห็นของผู้ว่าคาซุโอะ อูเอดะ เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในกรุงโตเกียว ที่ปรับตัวขึ้น ท่ามกลางผลกระทบของ Tariffs จะเป็นประเด็นสำคัญที่ตลาดจับตา โดยเราคงคำแนะนำซื้อสำหรับกรอบการลงทุนใน 12 เดือนข้างหน้า
TUSFIN-A: กองทุนหุ้นกลุ่มการเงินในสหรัฐฯ ลงทุนผ่านกองทุนหลัก XLF ETF โดยล่าสุดหุ้นในกลุ่มการเงินสหรัฐฯ รายงานผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด รวมถึงกลุ่มบัตรเครดิตอย่าง AMEX ที่สะท้อนการใช้จ่ายยังแข็งแกร่ง และยังคงเป้าการเติบโตของรายได้ทั้งปีไว้ตามเดิม เรามองหุ้นในกลุ่มการเงินมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น หากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นได้ โดยมีปัจจัยหนุนจากการลดดอกเบี้ยของเฟดและนโยบายการคลัง เช่น การลดภาษีนิติบุคคลและการลดกฎเกณฑ์สำหรับภาคธุรกิจการเงินที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2025
สำหรับกลุ่มการเงินสหรัฐฯ สัปดาห์นี้มีตัวเลขที่ต้องติดตาม คือ ตัวเลขตลาดแรงงาน, ไตรมาสแรกปี 2025 และ ISM Manufacturing ที่ตลาดคาดว่าจะชะลอตัวลง รวมถึงผลประกอบการหุ้นใหญ่ในกลุ่มอย่าง Visa และ Mastercard โดยเราคงคำแนะนำซื้อสำหรับกรอบการลงทุนใน 12 เดือนข้างหน้า
Holding lists
Satellite port (สำหรับช่วง 3 - 6 เดือน)
KT-INDIA-A(A): กองทุนหุ้นอินเดีย ลงทุนผ่านกองทุนหลัก Invesco India Equity เน้นการลงทุนในบริษัทที่มีการเติบโตอย่างมีคุณภาพ (Quality Growth) แม้จะมีแรงกดดันจากความตึงเครียดกับปากีสถาน จากเหตุกราดยิงนักท่องเที่ยวในแคว้นแคชเมียร์ทำให้มีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย โดยอินเดียเชื่อว่ากลุ่มติดอาวุธมีปากีสถานอยู่เบื้องหลัง แม้ปากีสถานจะปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่เรายังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อหุ้นอินเดีย จากการที่น่าจะเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ กอปรกับหุ้นใหญ่ในกลุ่มธนาคารอย่าง HDFC Bank และ ICICI Bank ต่างรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาดจากการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่ง, การรักษา NIM ได้ดี และการบริหารจัดการหนี้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแรงหนุนจากการฟื้นตัวของหุ้นเทคโนโลยีตามสหรัฐฯ
เราแนะนำให้ชะลอการเข้าลงทุน ภายหลังจากที่ดัชนี Nifty 50 ปรับตัวขึ้นเกินระดับ 24,000 จุด โดยเราแนะนำให้นักลงทุนที่เข้าลงทุนไปในช่วงก่อนหน้านี้ Let profit run โดยเป้าหมายดัชนีที่ 25,200 จุด
Satellite port (สำหรับช่วง 6 - 12 เดือน)
PRINCIPAL VNEQ-A: กองทุนหุ้นเวียดนาม ลงทุนโดยตรงในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เวียดนามหรือมีธุรกิจหลักในเวียดนามและ ETF โดย ณ วันที่ 28 ก.พ. 2025 กองทุนมีสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มการเงินมากที่สุดในพอร์ตราว 37% โดยดัชนี VNI ยังคงผันผวนสูงระดับ 1,200 จุด จากความกังวลการเจรจาการค้าโดยเฉพาะประเด็นการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม และแรงขายจาก Margin call ช่วงกลางสัปดาห์สะท้อนถึงปัญหาสภาพคล่องในตลาด อีกทั้งหุ้นใหญ่อย่าง FPT Corporation รายงานผลประกอบการเป็นไปตามที่ตลาดคาด (Inline) ทำให้ตลาดอาจไม่มีปัจจัยหนุนเพิ่มเติม แม้ในช่วงปลายปีจะมีปัจจัยบวกอย่าง เข้าสู่ดัชนี FTSE Emerging market ซึ่งอาจทำให้มีการ Re-rating P/E ไปซื้อขายในระดับที่สูงกว่านี้ได้ แต่จากโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกในอัตราที่สูงจึงมองการลงทุนในระยะถัดไปอาจมีความเสี่ยงที่สูงมากขึ้น
เราจึงแนะนำให้ทยอยขายทำกำไรเมื่อดัชนี VNI มีการรีบาวด์เข้าใกล้ระดับ 1,280 – 1,300 จุด
K-APB-A(A): กองทุนตราสารหนี้เอเชีย ลงทุนผ่านกองทุนหลัก Lombard Odier Asia Value Bond เน้นลงทุนในตราสารหนี้เอเชียระดับ Investment Grade ราว 60% และ High Yield ราว 40% ณ วันที่ 31 มี.ค. 2025 มีสัดส่วนการลงทุนในอินเดีย 20.7%, จีน 13.1%, ฮ่องกง 11% และญี่ปุ่น 8.1% โดยมี Portfolio duration ที่ 5.56 ปี และมี Yield to maturity ที่ 7.59% จากภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นจากนโยบายภาษี ทำให้กองทุนปรับตัวลงจาก Credit Spread ที่กว้างขึ้น โดยกองทุนหลักระบุเป็นราคาตราสารหนี้ปรับตัวลงมากจากภาวะตลาด แต่ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยบริษัทในเอเชียส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในประเทศจึงไม่น่าได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของสหรัฐฯ โดยล่าสุดกองทุนได้ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดราว 4.6%
จากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจนำมาซึ่ง Credit risk ที่สูงขึ้น ทำให้เราประเมินการลงทุนขณะนี้ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง จึงแนะนำเพียงถือและหาจังหวะทยอยขายเมื่อราคาสินทรัพย์ฟื้นตัวตามตลาดการเงินโดยรวม

เปิดพอร์ตลงทุนกองทุนรวมกับ KS ลงทุนได้หลากหลาย บลจ. >> https://ksecurities.co/Open-Account_Fund
Follow us :
LINE : https://ksecurities.co/KS-LineOA
Facebook: https://ksecurities.co/KS-Facebook
Instagram: https://ksecurities.co/KS-Instagram
Twitter: https://ksecurities.co/KS-Twitter
YouTube: https://ksecurities.co/KS-Youtube
Threads: https://ksecurities.co/KS-Threads
#KS #หลักทรัพย์กสิกรไทย #กองทุน #ผลตอบแทน #หุ้นไทย #การลงทุนหลักทรัพย์ #FUND #กลยุทธ์การจัดพอร์ต