การกำกับดูแลกิจการ
หลักการกำกับดูแลกิจการ
- สิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและออกเสียงลงคะแนน
- สิทธิในการมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทน
- สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและซักถามในการประชุมผู้ถือหุ้น
- สิทธิในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการ
- สิทธิในการออกเสียงลงคะแนนแต่งตั้งและกำหนดสินจ้างผู้สอบบัญชี
การประชุมผู้ถือหุ้น
-
การกำหนดวัน เวลา สถานที่ในการประชุมผู้ถือหุ้น
ในการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ซึ่งจะจัดขึ้นภายใน 4 เดือนนับแต่วันปิดบัญชีงบดุลประจำปี บริษัทจะกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะจัดประชุม ซึ่งโดยปกติจะจัดประชุม ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัท ซึ่งมีความพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นได้
ทั้งนี้ บริษัทสามารถเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นได้ หากคณะกรรมการบริษัทเห็นความจำเป็นหรือสมควร
-
การส่งหนังสือนัดประชุม
บริษัทจะดำเนินการจัดส่งหนังสือนัดประชุมให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 7 วันล่วงหน้าก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีระยะเวลาในการพิจารณาเกี่ยวกับวาระการประชุมและเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมพร้อมด้วยรายละเอียดที่เพียงพอที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจ ทั้งนี้ แต่ละเรื่องมีการระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่จะเสนอเพื่อทราบ เพื่ออนุมัติ หรือเพื่อพิจารณาแล้วแต่กรณี รวมทั้งมีความเห็นของคณะกรรมการในเรื่องดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทจะสื่อผ่านหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยฉบับใดฉบับหนึ่งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน
-
การมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นและออกเสียงลงคะแนนแทน
ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายใดไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ก็สามารถมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนตน โดยกรอกเอกสารหนังสือมอบฉันทะตามแนวทางที่อธิบายไว้ในรายละเอียดวิธีการมอบฉันทะที่บริษัทจัดส่งให้พร้อมกับหนังสือนัดประชุม
-
การเข้าร่วมประชุมและการลงทะเบียน
ในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นควรนำเอกสารที่ใช้แสดงตัวเพื่อเข้าร่วมประชุม อาทิ บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือในกรณีที่รับมอบฉันทะจากบุคคลธรรมดา จะต้องนำหลักฐานของผู้มอบฉันทะมาแสดงด้วย อาทิ หนังสือมอบฉันทะ และสำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือในกรณีที่รับมอบฉันทะจากนิติบุคคลในฐานะเป็นผู้แทน จะต้องนำหลักฐานของผู้มอบฉันทะมาแสดงด้วย อาทิ หนังสือมอบฉันทะ และหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่มีการรับรองสำเนาที่ถูกต้อง โดยบริษัทจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมได้ล่วงหน้าก่อนเวลาประชุม
-
การเข้าร่วมประชุมและการลงทะเบียน
บริษัทให้ความสำคัญต่อการประชุมผู้ถือหุ้น โดยประธานกรรมการบริหารในฐานะรองประธานกรรมการ จะทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม
นอกจากนี้ ผู้บริหาร และผู้สอบบัญชีภายนอก จะเข้าร่วมประชุมในวาระที่เกี่ยวข้องด้วยเพื่อรับฟังความคิดเห็นและตอบข้อซักถามของผู้ถือหุ้น
-
การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามและแสดงความคิดเห็น การลงมติ
และการบันทึกรายงานการประชุม
ในการประชุมผู้ถือหุ้น ระหว่างการประชุมจะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็นและซักถามโดยให้เวลาอย่างเหมาะสม ซึ่งการลงคะแนนและนับคะแนนเสียงเป็นไปอย่างเปิดเผยและรวดเร็ว ซึ่งการออกเสียงลงคะแนนบริษัทจะนับ 1 หุ้นเป็น 1 เสียง และถือเสียงข้างมากเป็นมติ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาดอีกเสียงหนึ่งต่างหากนอกเหนือจากการออกเสียงในฐานะเป็นผู้ถือหุ้น และใช้บัตรลงคะแนนเฉพาะกรณีที่ผู้ถือหุ้นคัดค้านหรืองดออกเสียง และเก็บบัตรลงคะแนนทั้งหมดไว้เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ภายหลัง รวมทั้งบริษัทได้มีการบันทึกมติที่ประชุมโดยแบ่งเป็นจำนวนเสียงที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย
และงดออกเสียงในแต่ละวาระไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรายงานการประชุม และมีการบันทึกคำถาม คำชี้แจง และความคิดเห็นของที่ประชุมไว้อย่างละเอียดด้วย กรณีที่ผู้ถือหุ้นคนใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในวาระการประชุมเรื่องใด ห้ามออกเสียงในเรื่องนั้น ยกเว้นการออกเสียงเลือกตั้งหรือถอดถอนกรรมการ
-
การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี
ให้ที่ประชุมสามัญประจำปีเป็นผู้แต่งตั้งและกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีของบริษัททุกปี โดยอาจแต่งตั้งผู้สอบบัญชีคนเดิมอีกก็ได้ แต่ผู้สอบบัญชีนั้นต้องไม่เป็นกรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ใด ๆ ในบริษัท และต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-
สัมพันธภาพกับลูกค้า
บริษัทยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริต การรักษาจริยธรรม และความเชื่อถือซึ่งกันและกัน เราตระหนักดีว่าลูกค้าแต่ละคนมีความต้องการและความคาดหวังแตกต่างกัน บริษัทต้องสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายด้วยการมุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการของบริษัทให้เข้าสู่ระดับสากลอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าอย่างที่สุด และด้วยความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว
-
สัมพันธภาพกับคู่ค้า
บริษัทจะปฏิบัติต่อคู่ค้าตามเงื่อนไขการค้า และปฏิบัติตามสัญญา มีการประพฤติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดีและไม่ใช้วิธีการที่ไม่สุจริต
-
สัมพันธภาพกับเจ้าหนี้
บริษัทจะปฏิบัติตามสัญญา หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ตามข้อตกลง และหน้าที่ที่พึงมีต่อเจ้าหนี้ ทั้งเจ้าหนี้ทางธุรกิจ ผู้ถือหุ้นกู้ และผู้วางเงินหลักประกัน
-
สัมพันธภาพกับคู่แข่ง
บริษัทจะประพฤติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดี และไม่ใช้วิธีการที่ไม่สุจริต เพื่อทำลายคู่แข่งทางการค้า
-
สัมพันธภาพกับสังคม
บริษัทและพนักงานต้องยึดมั่นประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี และผูกมิตรไมตรีกับทุกชุมชนที่บริษัท เปิดดำเนินกิจการ บริษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการใช้ทรัพยากรทั้งในรูปเงินทุน บุคลากร และพลังงานอย่างชาญฉลาด และร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นที่องค์กรตั้งอยู่ บริษัทพึงพอใจที่ได้มีส่วนร่วมทางสังคม ในการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมที่มีคุณประโยชน์
-
สัมพันธภาพกับพนักงาน
บริษัทมีนโยบายพื้นฐานที่ให้พนักงานปฏิบัติต่อเพื่อร่วมงานทุกคนด้วยความเคารพในเกียรติ ศักดิ์ศรี และสิทธิส่วนบุคคลของพนักงาน โดยบริษัทจะรวบรวมและเก็บรักษาประวัติข้อมูลส่วนตัวของพนักงานเฉพาะในส่วนที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผลของบริษัท หรือตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้บริษัทจะเก็บรักษาข้อมูลเหล่านั้นโดยถือเป็นความลับ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะกระทำได้เฉพาะในกรณีที่ผู้ที่มีสิทธิตามกฎหมายจำเป็นต้องรับทราบเท่านั้น
นโยบายการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ
บริษัทมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส สุจริต เป็นไปตามกฏหมาย และแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยตระหนักว่าการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยจรรโลงชื่อเสียงและเกื้อหนุนกิจการของบริษัท บริษัทจึงได้กำหนดนโยบายการป้องกันการหาผลประโยชน์ในห้าที่โดยมิชอบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน
- หน้าที่และความรับผิดชอบ
- คณะกรรมการบริษัทอนุมัตินโยบายการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ และกำกับดูแลการบริหารงานของบริษัท
- ฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานส่งเสริม กำกับดูแลความเสี่ยง และกำกับดูแลการปฏิบัติตาม นโยบายการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยชอบ รวมทั้งรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการรับทราบ โดยในกรณีที่มีเรื่องเร่งด่วนฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานสามารถรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทได้โดยทันที
- บริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับปฏิบัติตามนโยบายการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ ระเบียบวิธีปฏิบัติของบริษัท ข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ และจรรยาบรรณของพนักงาน
- ขอบเขตและแนวทางปฏิบัติ
บริษัทให้ความสำคัญในการป้องกันมิให้เกิดการหาผลประโยชน์หน้าที่โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่นในเรื่องต่างๆ ดังนี้- สินบนและสิ่งจูงใจ ห้ามให้หรือรับสินบน สิ่งจูงใจ และค่าอำนวยความสะดวกในรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น ที่อาจนำไปสู่การหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ และห้ามมอบหมายให้ผู้อื่นให้หรือรับสินบน สิ่งจูงใจ และค่าอำนวยความสะดวกแทนตนเอง
- ของขวัญ และผลประโยชน์ ห้ามให้หรือรับของขวัญ รวมถึงผลประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจให้เกิดการปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ หรืออาจทำให้เกิดการยินยอมผ่อนปรนในข้อตกลงทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสม และให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณของพนักงาน
- การบริจาคเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุน การบริจาคเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุนต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม
- กิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง บริษัทจะไม่นำเงินทุนหรือทรัพยากรของบริษัทไปใช้สนับสนุนทางการเมืองให้แก่ ผู้ลงสมัครแข่งขันเป็นนักการเมือง หรือพรรคการเมืองใด เพื่อการรณรงค์ทางการเมืองหรือการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ยกเว้นการให้ความสนับสนุนนั้นได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และสนับสนุนประชาธิปไตยโดยรวม โดยต้องได้รับอนุมัติจากคณะจัดการก่อนดำเนินการ
- การบริหารความเสี่ยง
บริษัทจัดให้มีการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถป้องกันหรือควบคุมความเสี่ยงดังกล่าวได้ โดยกำหนดให้มีการระบุ การประเมิน การควบคุมและติดตาม และการรายงานความเสี่ยงเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบตามนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่บริษัทกำหนด
- การควบคุมภายใน
บริษัทจัดให้มีการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของบริษัทและวัฒนธรรมการควบคุมที่ดี โดยมีการประเมินความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ กำหนดให้มีกิจกรรมการควบคุมที่มีประสิทธิผล และแบ่งแยกหน้าที่การทำงานที่เหมาะสม รวมทั้งจัดให้มีระบบสารสนเทศที่เพียงพอน่าเชื่อถือ และติดตามประเมินผลการควบคุมภายในอย่างสม่ำเสมอ
- การบริหารทรัพยากรบุคคล การสื่อสาร และการฝึกอบรม
บริษัทให้ความสำคัญในการคัดเลือกและการจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิผล และป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และมีการสื่อสาร ให้ความรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับนโยบายการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจ และปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม
นโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมาย และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญบริษัทจึงกำหนดนโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน
หน้าที่และความรับผิดชอบ
คณะกรรมการบริษัทอนุมัตินโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
บริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามนโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระเบียบวิธีปฏิบัติของบริษัทและข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
หลักการในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- การทำธุรกรรมของบริษัทจะต้องขจัดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างรอบคอบ มีเหตุผล และเป็นอิสระภายในกรอบจริยธรรมที่ดี เพื่อประโยชน์โดยรวมของบริษัท และประโยชน์ของลูกค้าและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ จึงกำหนดให้ กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่ทำกับบริษัท จะต้องไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณาหรืออนุมัติหรือเป็นตัวแทนเข้าทำธุรกรรมดังกล่าว และไม่มีการทำธุรกรรมเพื่อลูกค้าเกินความจำเป็น
- การทำธุรกรรมระหว่างบริษัทและธนาคารกสิกรไทย หรือธุรกรรมระหว่างบริษัทและบริษัทของธนาคารกสิกรไทย จะต้องมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดที่เป็นปกติเหมือนกับที่ทำกับบุคคลทั่วไปที่มีความเสี่ยงในระดับเดียวกัน หรือเป็นกรณีที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท และ/หรือผู้ถือหุ้น (แล้วแต่กรณี) ทั้งนี้ จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง นโยบาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด
- การทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน จะต้องกำหนดราคาให้เป็นไปอย่างเหมาะสมยุติธรรมและเป็นไปตามเงื่อนไขการค้าโดยทั่วไป รวมถึงต้องปฎิบัติตามระเบียบของบริษัทและเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม ระหว่างบริษัทและธนาคารกสิกรไทย หรือธุรกรรมระหว่างบริษัทและบริษัทของธนาคารกสิกรไทยอย่างถูกต้องและเพียงพอ เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจหรือการพิจารณาอนุมัติการทำธุรกรรมของบริษัทแล้วแต่กรณี
- ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ใช้ข้อมูลภายในที่ตนล่วงรู้จากการปฏิบัติหน้าที่ไปแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องเปิดเผยข้อมูลการมีส่วนได้เสียโดยมิชักช้า ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในสัญญาใดๆ ที่บริษัททำขึ้น
- การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานที่บริษัทกำหนด
- ในกรณีที่บริษัทมีเหตุอันสมควรที่จะทำธุรกรรมที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์บริษัทกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
บริษัทกำหนดมาตรการและระบบงานเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ดังนี้
- ปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม และไม่มีการทำธุรกรรมเพื่อลูกค้าเกินความจำเป็น
- ป้องกันอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้มีการนำข้อมูลหรือโอกาสจากการให้บริการไปใช้ในทางมิชอบ
- จัดให้มีการแบ่งแยกหน่วยงานและพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือแบ่งแยกพื้นที่การปฏิบัติงานออกจากกัน เช่น หน่วยงานและพนักงานที่รับผิดชอบด้านการติดต่อให้บริการ ได้แก่ งานด้านวาณิชธนกิจ งานด้านการให้คำแนะนำการลงทุนแก่ลูกค้า งานด้านการวิเคราะห์การลงทุน เป็นต้น ต้องแยกจากหน่วยงานและพนักงานที่รับผิดชอบด้านการลงทุนเพื่อลูกค้า เช่น
งานด้านการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อลูกค้า เป็นต้น - กำหนดระเบียบปฏิบัติเพื่อป้องกันการมีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งครอบคลุมประเด็นดังนี้
การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ครอบคลุมการกระทำของบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจในลักษณะดังนี้
- แสวงหาประโยชน์โดยให้ลูกค้าเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย
- ทำธุรกรรมโดยอาศัยข้อมูลที่บริษัท หรือกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานล่วงรู้มาจากการประกอบธุรกิจ และข้อมูลดังกล่าวไม่เปิดเผยเป็นการทั่วไป
- ได้รับหรือจะได้รับค่าตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าในรูปเงิน สิ่งของ หรือบริการ จากบุคคลใดๆ ยิ่งกว่าประโยชน์ปกติที่พึงได้รับจากการประกอบธุรกิจ
- ได้รับหรือจะได้รับค่าตอบแทน โดยเอื้อประโยชน์แก่ลูกค้ารายใดๆ ยิ่งกว่าประโยชน์ของลูกค้าอีกรายหนึ่ง ซึ่งทำให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อลูกค้าอีกรายหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มลูกค้าประเภทเดียวกันซึ่งควรจะได้รับบริการที่เท่าเทียมกัน
- ไม่สามารถให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเหมาะสม เนื่องจากบริษัทได้รับประโยชน์จากผลของการให้บริการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับประโยชน์ที่ลูกค้าพึงได้รับ หรือเนื่องจากมีประโยชน์ที่ขัดกันเองระหว่างลูกค้า
- ทำธุรกรรมเพื่อลูกค้าแล้วบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเสียประโยชน์
- การรับของขวัญหรือประโยชน์อื่นใดจากลูกค้า ผู้ให้บริการ หรือบุคคลอื่น
- การเปิดบัญชีและการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท
บริษัทกำหนดให้มีมาตรการในการติดตาม ควบคุม และตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการและระบบงานที่บริษัทกำหนด
บริษัทกำหนดให้มีการทบทวนความเหมาะสมของนโยบาย มาตรการและระบบงานเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือทบทวนทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบ และรายงานการทบทวนตามที่บริษัทกำหนด
นโยบายการรับแจ้งข้อมูลหรือเบาะแส
บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทโดยผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนการจัดให้มีการบริหารจัดการข้อมูลหรือเบาะแสที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทอย่างเหมาะสม จึงได้กำหนดนโยบายฉบับนี้ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทมีช่องทางการรับแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทุจริต และการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้องของพนักงาน ซึ่งรวมถึงการกระทำที่ผิดกฏหมาย กฏระเบียบของหน่วยงานทางการ จรรยาบรรณ นโยบายหรือระเบียบการปฏิบัติงานของบริษัท หรือจุดอ่อนการควบคุมภายในที่อาจนำไปสู่การทุจริตหรือความเสียหายเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน เกิดความเป็นธรรมต่อผู้แจ้งข้อมูลหรือผู้แจ้งเบาะแสและสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ช่องทางการรับแจ้งข้อมูลหรือเบาะแส เพื่อให้บริษัท สามารถจัดการตามนโยบายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้แจ้งข้อมูลหรือเบาะแสสามารถระบุรายละเอียดเรื่องที่จะแจ้ง พร้อมชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ และส่งมายังช่องทางการรับแจ้งข้อมูลหรือเบาะแส ดังนี้
เลขานุการคณะกรรมการบริษัท
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
เลขที่ 400/22 ชั้น 19 อาคารธนาคารกสิกรไทย ถนนพหลโยธิน
แขวงสามเสนใน เขตพญาไท
กรุงเทพฯ 10400
หรือ ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ มาที่ KS.Compliance@kasikornsecurities.com
การรายงานข้อมูลหรือเบาะแสที่ได้รับผ่านช่องทางอื่นให้ฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงาน ฝ่ายงาน สาขา หน่วยงาน หรือพนักงานที่ได้รับทราบข้อมูลหรือเบาะแสทั้งจากภายในและภายนอกบริษัท ต้องดำเนินการส่งสำเนาของข้อมูลหรือเบาะแสดังกล่าวที่ได้รับ พร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานทันทีที่รับทราบเรื่องดังกล่าว
กระบวนการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลหรือเบาะแส
บริษัทกำหนดให้มีกระบวนการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลหรือเบาะแส โดยมีการกลั่นกรอง รวบรวม และตรวจสอบข้อเท็จจริง หากผลการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง จะประสานเพื่อให้มีการดำเนินการสอบสวนและการลงโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนด ซึ่งข้อมูลหรือเบาะแสทุกเรื่องจะได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน ความยุติธรรม และความเป็นอิสระของหน่วยงานที่ดำเนินการ รวมถึงมีการรายงานให้คณะกรรมการทราบ
กรณีผู้แจ้งข้อมูลหรือผู้แจ้งเบาะแส ไม่เปิดเผยตนเอง บริษัทจะพิจารณาดำเนินการในกรณีที่ได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่ามีมูลตามที่ได้รับแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสที่เป็นประโยชน์
กรณีผู้แแจ้งข้อมูลหรือผู้แจ้งเบาะแส ให้ข้อมูลหรือเบาะแส โดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายหรือถูกลงโทษ ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และอาจเป็นการกระทำความผิดอาญาด้วย
การรักษาความลับ
บริษัทจะเก็บรักษาข้อมูลของผู้แจ้งข้อมูลหรือผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ โดยจำกัดเฉพาะผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น ที่จะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้
ผู้ได้รับข้อมูลหรือเบาะแสจากการปฏิบัติหน้าที่ ต้องเก็บรักษาข้อมูล เบาะแสและเอกสารหลักฐานของผู้แจ้งข้อมูลหรือผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ ห้ามเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่การเปิดเผยตามกฎหมาย
มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้แจ้งข้อมูลหรือผู้แจ้งเบาะแส
บริษัทมีมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้แจ้งข้อมูลหรือผู้แจ้งเบาะแสที่กระทำโดยเจตนาสุจริต โดยบริษัทจะปกปิด ชื่อ ที่อยู่ หรือข้อมูลใด ๆ ที่สามารถระบุตัวผู้แจ้งข้อมูลหรือผู้แจ้งเบาะแสได้ และกรณีผู้แจ้งข้อมูลหรือผู้แจ้งเบาะแสเป็นพนักงานของบริษัท จะได้รับความคุ้มครองตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
นโยบายงดรับของขวัญ
เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่เข้มแข็งในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ และสอดคล้องกับจรรยาบรรณของพนักงาน นโยบายการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ และให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลที่ดี บริษัทกำหนดนโยบายการงดรับของขวัญ (No Gift Policy) ด้วยหลักการดังต่อไปนี้
- พนักงานพึงงดรับของขวัญที่ได้อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อไม่ก่อให้เกิดการโน้มน้าวหรือจูงใจอย่างไม่เป็นธรรมต่อการประกอบธุรกิจ และไม่เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- หากมีกรณีรับไว้เนื่องจากความจำเป็นที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ หรือเพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดีต่อกันทางธุรกิจ หรือไม่ว่าเหตุผลอื่นใดก็ตาม ให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณของพนักงาน
จรรยาบรรณคู่ค้า
บริษัทมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส สุจริต เป็นไปตามกฎหมาย หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ “กรีน ดีเอ็นเอ” ที่มุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกที่ดีเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การพัฒนาสังคมและประเทศที่ยั่งยืน จึงได้กำหนดจรรยาบรรณคู่ค้าของบริษัทกสิกรไทยเพื่อให้คู่ค้าใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมาย และจรรยาบรรณของบริษัท ตลอดจนมาตรฐานสากล โดยบริษัทให้ความสำคัญและสนับสนุนให้คู่ค้าของบริษัท ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ปฏิบัติต่อแรงงานด้วยความเป็นธรรม ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม รวมถึงติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามจรรยาบรรณนี้อย่างเคร่งครัด
นิยาม
คู่ค้า หมายถึง ผู้ขายสินค้า ผู้รับจ้าง และ / หรือ ให้บริการแก่บริษัท ขอบเขตและแนวปฏิบัติ จริยธรรมทางธุรกิจ (Business Ethics)
- ความยุติธรรม บริษัทเชื่อมั่นในการให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่ายที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท และพยายามอย่างยิ่งในการหลีกเลี่ยงความลำเอียง หรือสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- ความซื่อสัตย์ ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความถูกต้อง ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ด้วยหลักการในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
- ความเป็นธรรม ปฏิบัติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดี และไม่ใช้วิธีการที่ไม่สุจริตเพื่อทำลายคู่แข่งทางการค้า หรือสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม
- การรักษาความลับ ไม่เปิดเผยหรือนำข้อมูลความลับของบริษัท ลูกค้า และคู่ค้า ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยไม่ได้รับความยินยอม เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด
- สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทและผู้อื่น และระมัดระวังไม่ให้มีการละเมิดสิทธิดังกล่าว
- ความรับผิดชอบต่อสังคม ยึดมั่นประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมในการใช้ทรัพยากร และมุ่งสร้างความเจริญให้สังคมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
สิทธิมนุษยชนและแรงงาน (Human Rights and Labor)
- การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เคารพในเกียรติ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิส่วนบุคคลของลูกจ้าง โดยไม่เลือกปฏิบัติหรือกีดกันแรงงาน อันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ อายุ สัญชาติ สิทธิความเป็นพลเมือง ความนิยมทางเพศ ความพิการ หรือเรื่องอื่นใด
- การไม่บังคับใช้แรงงาน ไม่กระทำหรือสนับสนุนให้มีการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงการล่วงละเมิดหรือข่มขู่คุกคามแรงงานในทุกรูปแบบ
- การคุ้มครองแรงงาน การจ้างแรงงานเด็ก การใช้แรงงานสตรีมีครรภ์ และการจ้างแรงงานต่างด้าว ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การเลิกจ้างต้องดำเนินการในแต่ละขั้นตอนตามกฎหมายแรงงาน และต้องไม่เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
- ระยะเวลาการทำงาน ไม่ให้ลูกจ้างทำงานเป็นเวลานานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด กรณีมีการทำงานล่วงเวลาต้องเป็นไปตามความสมัครใจของลูกจ้าง รวมทั้งจัดให้มีวันหยุดและวันลาไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด
- การจ่ายค่าจ้างและผลประโยชน์ จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และผลประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับอย่างถูกต้อง เป็นธรรม ไม่ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และตรงตามกำหนดเวลา
ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย (Safety and Occupational Health)
จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และเอื้อต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิผล สอดคล้องตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดให้มีการควบคุมขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน
สิ่งแวดล้อม (Environment)
- ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
- ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- ร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
นโยบายการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
บริษัทมีความมุ่งมั่นในการป้องกันมิให้บริษัทเป็นแหล่งฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง บริษัทจึงได้กำหนดนโยบาย ระเบียบปฏิบัติ คู่มือการปฏิบัติงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานของบริษัทดำเนินไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และกฎระเบียบของหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องซึ่งประกอบด้วย
- นโยบายการรับลูกค้า
- การรู้จักลูกค้า (Know Your Customer : KYC)
- การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence : CDD)
- การระบุตัวตน
- การบริหารความเสี่ยงในการฟอกเงิน
- การตรวจทานและติดตามความเคลื่อนไหวทางบัญชีของลูกค้า
- การประเมินความเสี่ยงด้าน AML/CTPF
- การบริหารความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงภายในของบริษัท
การตรวจ Sanction List และการรายงานธุรกรรม
หลักปฏิบัติที่ 1: กำหนดนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุนที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร
- บริษัทมีการกำหนดนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุนที่ชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษร สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจของบริษัท เพื่อให้การบริหารจัดการการลงทุนเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และข้อตกลงกับลูกค้า
- บริษัทมีการจัดโครงสร้างอำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ การติดตามดูแลภายในบริษัท กระบวนการเปิดเผยข้อมูล และการดำเนินการที่จะเป็นกลไกให้สามารถติดตามดูแลบริษัทที่เข้าไปลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ เพื่อรักษาประโยชน์ (fiduciary duty) และเสริมสร้างมูลค่าการลงทุนให้แก่ลูกค้า
- บริษัทมีโครงสร้างการกำกับดูแลที่เป็นอิสระ โดยฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานทำหน้าที่ตรวจสอบและรายงานผลการตรวจสอบตรงต่อคณะกรรมการบริษัท
- บริษัทตระหนักถึงความรับผิดชอบในการรักษาและสร้างมูลค่าเงินลงทุนตามระยะเวลา (time horizon) ที่สอดคล้องกับประโยชน์ของลูกค้า ซึ่งได้คำนึงถึงประโยชน์ในระยะยาวของลูกค้า (long-term perspective) เป็นสำคัญ
- บริษัทมีการนำปัจจัยเชิงคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) ของบริษัทที่ลงทุนมาประกอบการพิจารณาลงทุน
- บริษัทสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ (capacity) และประสบการณ์ที่จะทำให้สามารถดูแล และบริหารจัดการลงทุน รวมถึงการติดตาม (monitor) การใช้สิทธิออกเสียง และการเข้าถึง (engage) บริษัทที่ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิผลเพื่อรักษาประโยชน์ของลูกค้า
- สำหรับผู้ที่ต้องการมีเงินเก็บ โดยการสร้างวินัยการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
- บริษัทมีการจัดการกับการใช้ข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาของบริษัทที่ลงทุน ที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ และการป้องกันพฤติกรรมการลงทุนที่อาจก่อให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงมีมาตรการในการป้องกันการใช้ประโยชน์จากการใช้ข้อมูลภายในกำหนดให้มีนโยบายการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ
- บริษัทมีการกำหนดนโยบายการป้องกันการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Anti-Money Laundering and Counter-Terrorism and Proliferation of Weapon of Mass Destruction Financing (AML/CTPF) Policy) อย่างเพียงพอ
หลักปฏิบัติที่ 2: มีการป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเพียงพอเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า
- บริษัทมีการบริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคล ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวังผลประโยชน์ของผู้ลงทุน ใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพอย่างเต็มที่ รวมถึงมีการกำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการที่ทำให้สามารถบริหารจัดการการลงทุนเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้าและเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- บริษัทจัดทำนโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่สอดคล้องกับกรอบการบริหารความเสี่ยงของบริษัทในภาพรวม ตลอดจนบริษัทกำหนดให้มีการทบทวนนโยบายดังกล่าวเป็นประจำ
- บริษัทกำหนดระบบงานและมาตรการ ตลอดจนวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เพียงพอ รวมทั้งสามารถจัดการประเด็นอื่นที่อาจกระทบกับประโยชน์ของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- บริษัทมีการสื่อสารและอบรมให้เข้าใจและสามารถปฏิบัติตามนโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- มีมาตรการในการติดตาม ควบคุม และตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการและระบบงานที่กำหนดไว้ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามและสอดคล้องกับนโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- มีการกำหนดธุรกรรมที่เกี่ยวกับการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น ธุรกรรมระหว่างบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย นโยบายการงดรับของขวัญ การรับผลประโยชน์ตอบแทนเนื่องจากการประกอบธุรกิจ (Soft or Hard Dollar) การทำธุรกรรมเกินความจำเป็น (Churning) มาตรการป้องกันการซื้อขายโดยอาศัยข้อมูลภายใน การซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงาน เป็นต้น
- บริษัทกำหนดโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่สอดคล้องกับระยะเวลาการลงทุน (time horizon) ของลูกค้าอย่างเหมาะสม โดยมีการกำหนด benchmark ที่ใช้วัดผล (performance) การลงทุนที่เป็นระยะยาว และเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการวัด performance โครงสร้างค่าธรรมเนียม ที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วนั้นให้ลูกค้าทราบ
หลักปฏิบัติที่ 3: การตัดสินใจและติดตามบริษัทที่ลงทุนอย่างใกล้ชิดและทันเหตุการณ์ (Actively)
- บริษัทมีกระบวนการตัดสินใจการลงทุน โดยมีการกำหนดปัจจัยในการพิจารณาบริษัทที่จะลงทุน เช่น การประเมินมูลค่าของกิจการ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน การวิเคราะห์ปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค เป็นต้น รวมถึงปัจจัยด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG)
- คณะกรรมการการลงทุนจัดให้มีกระบวนการในการติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่ลงทุนอย่างน้อย ไตรมาสละ 1 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทที่ลงทุนสามารถคงกลยุทธ์ การบริหารจัดการ ทราบถึงการดำเนินงานของบริษัทที่ลงทุน และรู้ปัญหาของบริษัทที่ลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นและทันเหตุการณ์ รวมถึงบรรษัทภิบาลของบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง
- คณะกรรมการการลงทุนทบทวนและวัดประสิทธิภาพของการติดตามดูแลบริษัทที่ลงทุนเป็นระยะ
หลักปฏิบัติที่ 4: การเพิ่มระดับการติดตามบริษัทที่ลงทุน กรณีเห็นว่าการติดตามในหลักปฏิบัติที่ 3 ไม่เพียงพอ (Escalating Investee Companies)
กรณีที่บริษัทได้ติดตามและดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่ 3 แล้ว เห็นว่าไม่เพียงพอ เนื่องจากบริษัทที่ลงทุนมีประเด็นที่มีนัยสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้
- กลยุทธ์ ผลประกอบการ และการจัดการกับความเสี่ยง
- ความเชื่อมั่นในการบริหารกิจการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
- ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
บริษัทจะจัดให้มีแนวทางที่จำเป็นในการดำเนินการกับบริษัทที่ลงทุนเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการการลงทุนจะเป็น ผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมของมาตรการที่เข้มข้นเพิ่มมากขึ้นตามความจำเป็น อาทิเช่น
- เข้าพบกับประธานกรรมการ หรือกรรมการอื่น รวมทั้งกรรมการอิสระ ของบริษัทที่ลงทุน
- แจ้งจุดยืนไปยังบริษัทที่ลงทุน และเข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีมาตรการรักษาความลับของข้อมูลดังกล่าวเพื่อป้องกันการกระทำที่อาจผิดกฏหมาย และเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น
หลักปฏิบัติที่ 5: การเปิดเผยนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงและผลการใช้สิทธิออกเสียง
- การใช้สิทธิออกเสียงของผู้จัดการกองทุน จะต้องกระทำโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ โดยควรมีความโปร่งใสและเป็นไปตามนโยบายของบริษัท รวมถึงกฎเกณฑ์ ข้อกำหนด และประกาศที่เกี่ยวข้องของสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ แนวทางการใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงการพิจารณาใช้สิทธิออกเสียงในวาระการประชุมผู้ถือหุ้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการลงทุน (Investment Committee)
- มีนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงที่ชัดเจนและผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการการลงทุน โดยนโยบายดังกล่าวครอบคลุมถึงแนวทางดำเนินการหากบริษัทมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการใช้สิทธิออกเสียง ตลอดจนมีการกำหนดกรณีที่บริษัทจะไม่ใช้สิทธิออกเสียงเมื่อมีสภาพการณ์ที่กำหนด เช่น บริษัทถือหุ้นต่ำกว่าระดับที่กำหนด โดยบริษัทเปิดเผยนโยบายดังกล่าวให้แก่ลูกค้าและบุคคลทั่วไปรับทราบด้วย
- นโยบายการใช้สิทธิออกเสียงของบริษัทครอบคลุมในเรื่องดังต่อไปนี้
- เรื่องที่สำคัญที่ต้องไปใช้สิทธิออกเสียง (active voting)
- เรื่องที่จะงดออกเสียง
- จำนวนหุ้นหรือสัดส่วนของการถือครองหุ้นที่จะไม่ใช้สิทธิออกเสียง
- กระบวนการในการตัดสินใจเพื่อสนับสนุน หรือคัดค้าน หรืองดออกเสียง
- บริษัทจะเข้าประชุมและใช้สิทธิออกเสียงในวาระที่พิจารณาว่ามีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกองทุน ส่วนบุคคลหรือบริษัทที่ลงทุน โดยบริษัทจะพิจารณาตามนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงของบริษัท นโยบายการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคล ความครบถ้วนเพียงพอของข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณา รวมถึงคำนึงถึงความรับผิดชอบของบริษัทที่ลงทุนในด้านที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น
- บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้น การเปิดเผยรายงานผลการใช้สิทธิออกเสียงประจำปีในบริษัทที่ลงทุนและรายละเอียดการใช้สิทธิออกเสียงในวาระที่มีนัยสำคัญ รวมถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุนส่วนบุคคล ให้ลูกค้าทราบและเข้าถึงข้อมูลในช่องทางต่างๆ ที่บริษัทกำหนด เช่น เว็บไซต์บริษัท เป็นต้น
หลักปฏิบัติที่ 6: ร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่นและผู้มีส่วนได้เสียตามความเหมาะสม (Collective Engagement)
ในกรณีที่บริษัทมีข้อกังวลหรือยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หลังจากเพิ่มระดับการติดตามบริษัทที่ลงทุน บริษัทอาจร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่นหรือผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเพิ่มพลังเสียงของผู้ลงทุน นำไปสู่การสร้างผลกระทบ และเป็นการขับเคลื่อนให้บริษัทที่ลงทุนเห็นความสำคัญของข้อกังวลของบริษัท โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าของบริษัทเป็นสำคัญ
หลักปฏิบัติที่ 7: การเปิดเผยนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน และการปฏิบัติตามนโยบายต่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ
บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน ตลอดจนรายงานการปฏิบัติตามนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุนให้ลูกค้ารับทราบผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท รวมถึงจะเปิดเผยกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว พร้อมระบุเหตุผลด้วย